Shut down, Sleep หรือ Hibernate โน้ตบุ๊คดี?

0

เมื่อผู้ใช้ต้องการปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบ Windows นั้น ผู้ใช้มี 3 ตัวเลือกด้วยกัน คือ การปิดเครื่อง (Shut down), สลีป (Sleep) และ จำศีล (Hibernate) ตัวเลือกเหล่านี้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แล้วแต่ละตัวเหมาะสมสำหรับการใช้งานในสถานการณ์ใด วันนี้ผมมีวิธีเลือกใช้งานแนะนำและแลกเปลี่ยนข้อคิดความเห็นกันครับ

Shut down vs Sleep vs Hibernate

ถึงแม้ว่าทั้ง Shut down, Sleep และ Hibernate จะทำหน้าที่แบบเดียวกันคือ ทำการปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ทั้ง 3 ตัวมีรายละเอียดการทำงานที่แตกต่างกัน ดังนี้

Shut Down

Shut Down หรือ Power-off เป็นการปิดเครื่อง โดยเมื่อคุณทำการ Shut down เครื่องคอมพิวเตอร์จะหยุดเครื่องโดยสิ้นเชิง ระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และโปรแกรมทั้งหมดจะถูกปิด และคอมพิวเตอร์จะทำการปิดระบบปฏิบัติการ เมื่อการปิดเครื่องจะทำให้คอมพิวเตอร์ไม่มีการใช้พลังงานใดๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณต้องการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่อีกครั้ง คุณจะต้องทำการเปิดเครื่องและรอจนกระบวนการบูตแล้วเสร็จ รอจนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ พร้อมใช้งาน คุณจึงสามารถใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่ต้องการได้

Sleep

Sleep หรือ Standby เป็นโหมดที่คอมพิวเตอร์เข้าสู่สถานะที่เรียกว่า Low-power คือใช้พลังงานเฉพาะที่จำเป็น โดยสถานะของเครื่องคอมพิวเตอร์จะถูกเก็บไว้ในหน่วยความจำ แต่องค์ประกอบอื่นๆ ของคอมพิวเตอร์จะถูกปิดการทำงานและจะไม่ใช้พลังงาน เมื่อคุณทำการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานใหม่อีกครั้ง มันจะกลับมาพร้อมใช้งานในเวลาเพียงไม่กี่วินาที โดยที่คุณไม่ต้องรอกระบวนการบูตและรอให้ฮาร์ดแวร์พร้อมใช้งาน

อย่างไรก็ตาม คอมพิวเตอร์ที่เข้าสู่โหมด Sleep จะใช้พลังงานมากกว่าการปิดเครื่อง หรือการเข้าสู่โหมด Hibernate

Hibernate

Hibernate เป็นโหมดที่คอมพิวเตอร์ทำการบันทึกสถานะปัจจุบันลงในอาร์ดดิสก์ และดัมพ์ข้อมูลในหน่วยความจำลงไปเก็บเป็นไฟล์บนฮาร์ดดิสก์ จากนั้นเมื่อคุณทำการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานใหม่อีกครั้ง มันจะทำการโหลดสถานะที่เก็บไว้บนฮาร์ดดิสก์เข้าสู่หน่วยความจำ โดย Hibernate จะเก็บข้อมูลโปรแกรมและข้อมูลต่างๆ ที่คุณใช้งานเอาไว้ ดังนั้นคุณจึงสามารถทำงานต่อเนื่องจากที่ทำค้างไว้ได้ในทันทีที่เครื่องพร้อมใช้งาน

คอมพิวเตอร์ที่เข้าโหมด Hibernate จะใช้เวลาในการพร้อมใช้งานนานกว่าการเข้าโหมด Sleep แต่ใช้พลังงานน้อยกว่ามาก โดยทางทฤษฏีแล้วจะใช้พลังงานเท่ากับการ Shut down คือไม่ใช้พลังงานเลย

!!!สำหรับโน้ตบุ๊ค ถ้าในระหว่างที่มันอยู่ในโหมด Sleep แล้วแบตเตอรี่ลดลงต่ำกว่าจุดวิกฤต มันจะทำการเข้าสู่โหมด Hibernate โดยอัตโนมัติ

การเลือกใช้ Shut Down, Sleep และ Hibernate

การที่จะเลือกว่าควร Shut Down, Sleep หรือ Hibernate โน้ตบุ๊คดีนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์การใช้งาน

สถานการณ์การใช้งาน Sleep
โหมด Sleep เหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่คุณต้องหยุดใช้งานโน้ตบุ๊คช่วงเวลาสั้นๆ การเข้าสู่โหมด Sleep ช่วยคุณประหยัดพลังงานและแบตเตอรี่ (ซึ่งหมายถึงช่วยคุณประหยัดเงินค่าไฟฟ้าที่คุณต้องจ่าย) ในขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะกลับมาพร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็วเมื่อคุณกลับมาทำงานต่อ

สถานการณ์การใช้งาน Hibernate
โหมด Hibernate เหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่คุณต้องหยุดใช้งานโน้ตบุ๊คเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง หรือในกรณีที่คุณต้องนำโน้ตบุ๊คไปใช้งานนอกสถานที่ การ Hibernate จะช่วยประหยัดไฟฟ้าและแบตเตอรี่มากกว่า Sleep แต่ใช้เวลาในการกลับมาพร้อมใช้งานนานกว่า

สถานการณ์การใช้งาน Shut Down
ถึงแม้ว่าการ Hibernate จะใช้พลังงานใกล้เคียงหรือเท่ากับการ Shut down ในณะที่ใช้เวลาในการกลับมาพร้อมใช้งานน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม โปรแกรมบางตัวจะมีปัญหาการทำงานเมื่อโน้ตบุ๊คออกจากโหมด Hibernate ดังนั้นเพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น คุณควรทำการปิดเครื่อง หรือเริ่มต้นระบบใหม่อย่างสม่ำเสมอ (ผมแนะนำให้ทำทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง)

Windows 10 Version 1607

ผูใช้ Windows 10 Version 1607 (Anniversary Update) สามารถ Shut Down, Sleep หรือ Hibernate ได้โดยการคลิก Start คลิก Power แล้วคลิกคำสั่งที่ต้องการ

รูปที่ 1

หรือคลิกขวาปุ่ม Start หรือกดปุ่ม Windows + X คลิก Shut down or sign out จากนั้นเลือกคำสั่งที่ต้องการ

รูปที่ 2

สรุป

เนื่องจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์แต่ละคนมีพฤติกรรมและความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถสรุปให้เป็นที่พอใจของทุกคนได้ว่าเมื่อใดควรทำการ Shut Down, Sleep หรือ Hibernate โน้ตบุ๊ค ดังนั้น คุณสามารถเลือกทำวิธีใดก็ได้ตามที่คุณชื่นชอบ หรือคุณสามารถใช้แนวทางที่แนะนำด้านบนเพื่อประเมินหาวิธีที่เหมาะสมกับคุณที่สุดครับ

แหล่งอ้างอิง
How To Geek

ประวัติการปรับปรุงบทความ
27 กุมภาพันธ์ 2561: ปรับปรุงเนื้อหา
13 ธันวาคม 2559: เผยแพร่ครั้งแรก

Share This
Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmailby feather
Share.

Comments are closed.