ทดสอบแอปด้วย Sandbox บน Windows 10 เวอร์ชัน 1903

0

ต้องทำอย่างไร ถ้าหากมีความจำเป็นต้องทดสอบแอปบางตัว ที่ไม่แน่ใจว่าแอปนั้นจะมีผลกระทบกับระบบ Windows หรือไม่ หรือว่ามีมัลแวร์แอบแฝงอยู่หรือไม่ บทความนี้มีทางออกมาแนะนำครับ

Windows Sandbox คือ ?

Windows Sandbox เป็นฟีเจอร์ใหม่ใน Windows 10 เวอร์ชัน 1903 ที่เป็นเหมือนกระบะทรายที่ออกแบบมาเพื่อใช้รันแอปที่ไม่น่าเชื่อถือ หรืออาจมัลแวร์แอบแฝงตัวอยู่ ในสภาพแวดล้อมที่แยกการทำงานออกเป็นอิสระจากแอปอื่น ๆ ที่ติดตั้งตามปกติ

ทางเทคนิค Windows Sandbox คือคอมพิวเตอร์เสมือน (Virtual Machine) ที่รันอยู่บน Hypervisor โดยใช้อิมเมจของระบบปฏิบัติการของเครื่องมันรันอยู่

อิมเมจของ Windows Sandbox มีขนาดที่เล็กประมาณ 100MB และได้รับการปรับให้บูทและรันได้รวดเร็ว มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพการทำงานสูง โดยใช้ integrated kernel scheduler, virtual graphics และ smart memory management

Windows Sandbox จะทำการสร้างอิมเมจ Windows 10 ใหม่ในทุกครั้งที่รัน และทำงานในระบบเสมือนที่แยกออกเป็นอิสระจากระบบหลักเพื่อความปลอดภัยสูงสุด เมื่อปิด Windows Sandbox ทุกสิ่งจะถูกลบโดยอัตโนมัติ

ความต้องการระบบ

ฟีเจอร์ Windows Sandbox มีความต้องระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ส่วนใหญ่เหมือนกันกับ Hyper-V โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro, Enterprise, Education (ไม่รองรับบน Windows 10 Home)
  • ซีพียู 64-บิต และมีเทคโนโลยี Second Level Address Translation (SLAT)
  • ซีพียู แบบ 2 แกนเป็นอย่างน้อย (แนะนำใช้ซีพียู แบบ 4 แกน และมี hyperthreading)
  • ซีพียู รองรับ VM Monitor Mode Extension (VT-c บนอินเทลซีพียู)
  • หน่วยความจำขั้นต่ำ 4GB (แนะนำ 8GB)
  • พื้นที่ว่างฮาร์ดดิสก์ 1GB (แนะนำใช้ SSD)
  • รองรับ Hardware Virtualization ในระดับ BIOS

การเปิดใช้ฟีเจอร์ Windows Sandbox บน Windows 10

วิธีการตรวจสอบว่าระบบฮาร์ดแวร์ว่าสนับสนุน Virtualization หรือไม่ ทำได้ใช้แอป System Information (systeminfo.exe) โดยให้ตรวจสอบค่าขององค์ประกอบด้านล่าง โดยทั้ง 4 หัวข้อจะต้องมีค่าเป็น Yes ทั้งหมด กรณีมีองค์ประกอบใดมีค่าเป็น No ให้ทำการเปิด (Enable) องค์ประกอบใน BIOS ก่อนทำการติดตั้ง Windows Sandbox

  • Hyper-V – VM monitor Mode Extensions
  • Hyper-V – Second Level Address Translation (SLAT)
  • Hyper-V – Virtualization enabled in Firmware
  • Hyper-V – Data Execution Protection

หลังจากตรวจสอบแล้วว่าระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ว่าสนับสนุน Virtualization จากนั้นให้ทำการติดตั้ง Windows Sandbox

1. ป้อน Turn Windows features ลงในช่อง Type here to search จากนั้นคลิก Turn Windows features on or off จากหน้าแสดงผลการค้นหา

2. บนหน้า Turn Windows features on or off ให้คลิกเลือก Windows Sandbox เสร็จแล้วคลิก OK

3. รอจนกระทั่ง Windows ทำการติดตั้งแล้วเสร็จ จากนั้นให้คลิก Restart now เพื่อทำการรีสตาร์ทเครื่องเพื่อให้การติดตั้ง Hyper-V เสร็จสมบูรณ์

การใช้ Windows Sandbox บน Windows 10

หลังจากเครื่องพีซีพร้อมใช้งาน (จะมีการติดตั้งอัปเดทระบบใรระหว่างการเริ่มต้นระบบ) สามารถใช้งาน Windows Sandbox ได้ตามขั้นตอน

1. (ดำเนินการบนเครื่องพีซี) ป้อน Windows Sandbox ลงในช่อง Type here to search จากนั้นคลิก Windows Sandbox จากหน้าแสดงผลการค้นหา

จะได้หน้าต่าง Windows Sandbox ลักษณะดังรูปด้านล่าง

2. (ดำเนินการบนเครื่องพีซี) ทำการดาวน์โหลดแอปที่ต้องการติดตั้งใน Windows Sandbox จากนั้นทำการคลิกขวาไฟล์ดังกล่าวแล้วเลือก Copy

3. (ดำเนินการบน Windows Sandbox) ในหน้าต่าง Windows Sandbox ให้คลิกขวาบนเดสก์ท็อปจากนั้นเลือก Paste

4. (ดำเนินการบน Windows Sandbox) ดับเบิลคลิกไฟล์สำหรับติดตั้งแอป (.exe, .msi, หรืออื่น ๆ) ที่ทำการก็อปปี้ในขั้นตอนที่ 3

5. (ดำเนินการบน Windows Sandbox)ทำการติดตั้งแอปตามขั้นตอนบนหน้าจอ (ขั้นตอนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแอปที่ทำการติดตั้ง) จนการติดตั้งแล้วเสร็จ

หลังจากการติดตั้งเสร็จเรียบร้อย จะสามารถใช้งานแอปดังกล่าวได้เหมือนกับการใช้งานแอปที่ติดตั้งตามปกติ

ทิป:

  • ใช้แป้นพิมพ์ลัด Ctrl + Alt + Break (หรือ Pause) เพื่อสลับ Windows Sandbox ระหว่างโหมดเต็มจอ กับหน้าต่าง
  • ใช้แป้นพิมพ์ลัด Shift + Alt + PrintScreen เพื่อเปิดหรือปิดโหมดความคมชัดสูงใน Windows Sandbox

ข้อดีและข้อด้อยของ Windows Sandbox

ข้อดีของ Windows Sandbox คือ

  • เปิดใช้งานง่าย เป็นฟีเจอร์ที่ให้มาพร้อม Windows ทำให้ติดตั้งใช้งานได้สะดวกไม่ต้องดาวน์โหลดโปรแกรมเพิ่ม ไม่ต้องทำการตั้งค่าใด ๆ
  • การใช้งานรวดเร็ว ติดตั้งสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องสร้างคอมพิวเตอร์เสมือน
  • ใช้พื้นที่ฮาร์ดดิสก์ โดยต้องการพื้นที่ในการทำงานประมาณ 1GB
  • ไม่ทิ้งร่องรอย ข้อมูลทั้งหมดจะถูกลบโดยอัตโนมัติเมื่อปิดเครื่อง

ข้อด้อยของ Windows Sandbox คือ

  • รันได้เพียง instance เดียว
  • ไม่สามารถใช้ทดสอบแอปที่ติดตั้งแล้วต้องรีสตาร์ทเครื่องได้ เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดจะถูกลบโดยอัตโนมัติเมื่อปิดหรือรีสตาร์ทเครื่อง

ความคิดเห็น

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีความคิดเห็นว่า Windows Sandbox เหมาะสำหรับการใช้ทดสอบแอปเล็ก ๆ ที่ติดตั้งแล้วใช้งานได้ทันทีโดยต้องรีสตาร์ทเครื่อง หรือแอปไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย (ผมว่าถ้าไม่มั่นใจก็ไม่ควรติดตั้งลงเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบอะไรก็ตาม) หรือแอปที่ต้องการใช้งานเพียงครั้งสองครั้ง

สำหรับการทดสอบแอปที่ต้องมีการปรับแต่งแก้ไขระบบและรีสตาร์ทเครื่อง ควรใช้คอมพิวเตอร์เสมือน (Virtual Machine) บน Hyper-V หรือ VirtualBox จะเหมาะสมกว่าครับ

หวังว่าบทความนี้น่าจะ(พอ)ช่วยให้ผู้ใช้ Windows 10 ได้เห็นแนวทางการใช้ประโยชน์ฟีเจอร์ Windows Sandbox ไม่มากก็น้อย ขอบคุณครับ

แหล่งอ้างอิง
Windows Central

ประวัติการปรับปรุงบทความ
11 กันยายน 2562: เผยแพร่ครั้งแรก

Share This
Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmailby feather
Share.

Comments are closed.