การสร้าง Virtual Machine บน Windows 8.1 ด้วย Hyper-V

0

ก่อนหน้านี้ผมได้แนะนำวิธีการเปิดใช้งาน Hyper-V บน Windows 8.1 ไปแล้ว (อ่านได้ที่นี่) ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการสร้างคอมพิวเตอร์เสมือน (Virtual Machine) เพื่อใช้ในการติดตั้งระบบปฏิบัติการหรือแอปพลิเคชันสำหรับใช้ทดสอบโปรแกรมหรือแม้แต่ใช้งานจริง

หมายเหตุ: แม้ว่าสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์เสมือน Hyper-V บน Windows 8.1 ในการผลิตจริงๆ แต่ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ใช้ Hyper-V บน Windows Server จะเหมาะสมกว่าครับ

วิธีการสร้าง Virtual Machine บน Windows 8.1 ด้วย Hyper-V
การสร้างคอมพิวเตอร์เสมือนบน Windows 8.1 ด้วย Hyper-V มีขั้นตอนดังนี้

1. เปิด Hyper-V Manager โดยการคลิกไทล์ Hyper-V Manager บนหน้าโปรแกรม (Apps) ดังรูปที่ 1

ทิป: สำหรับผู้ใช้ Windows 8.1 Update ที่ใช้งาน Hyper-V Manager เป็นประจำ สามารถทำการปักหมุดไทล์ของเครื่องมือตัวนี้ไปไว้บนแถบงานบนหน้าเดสก์ท็อปเพื่อความสะดวกในการใช้งาน

รูปที่ 1

หรือถ้าถนัดการเปิดโปรแกรมด้วยการค้นหาด้วยชาร์ม Search ให้กดปุ่ม Windows + Q แล้วค้นหา Hyper-V Manager ก็ได้เช่นกัน (ดูรูปที่ 2 ประกอบ)

รูปที่ 2

2. บนหน้าต่าง Hyper-V Manager ในบานหน้าต่างนำทางให้คลิกขวาบน [computer name] แล้วคลิก New จากนั้นเลือก Virtual Machine ดังรูปที่ 3

รูปที่ 3

3. บนหน้า New Virtual Machine Wizard: Before You Begin ดังรูปที่ 4 ให้คลิก Next เพื่อเริ่มต้นสร้างคอมพิวเตอร์เสมือนโดยใช้ตัวช่วย (ถ้าหากเคยใช้งานจนชำนาญแล้วสามารถคลิก Finish เพื่อสร้างคอมพิวเตอร์เสมือนแบบกำหนดค่าต่างๆ ด้วยตนเองได้เช่นกัน)

รูปที่ 4

4. บนหน้า Specify Name and Location ดังรูปที่ 5 ให้ป้อนชื่อคอมพิวเตอร์เสมือนในช่อง Name หากต้องการเก็บไฟล์เวอร์ชวลแมชชีนไว้ในโฟลเดอร์อื่นที่ไม่ใช่ค่าเริ่มต้นที่ Hyper-V กำหนดให้ ให้เลือกเช็คบ็อกซ์ Store the virtual machine in a different location จากนั้นเลือกโฟลเดอร์ที่ต้องการ เสร็จแล้วคลิก Next เพื่อดำเนินการในขั้นตอนถัดไป

รูปที่ 5

5. บนหน้า Specify Generation ดังรูปที่ 6 ให้เลือกรุ่นคอมพิวเตอร์เสมือนว่าจะเป็น Generation 1 (เป็นค่าเริ่มต้น) หรือ Generation 2 ขั้นตอนนี้ต้องเลือกอย่างรอบคอบนะครับ เพราะหลังจากทำการสร้างคอมพิวเตอร์เสมือนเสร็จแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง จากนั้นคลิก Next เพื่อดำเนินการในขั้นตอนถัดไป

รูปที่ 6

6. บนหน้า Assign Memory ดังรูปที่ 7 ให้ตั้งค่าหน่วยความจำให้ความเหมาะสมกับระบบปฏิบัติการเกสต์ที่จะใช้บนคอมพิวเตอร์เสมือน (Hyper-V จะตั้งค่าหน่วยความจำเริ่มต้นเท่ากับ 512 MB) ถ้าวางแผนที่จะใช้ Windows 8.1 ให้ตั้งค่าความจำ 1024 MB เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าจะใช้ Windows Server 2012 หรือใหม่กว่าแนะนำให้ตั้งค่าความจำ 800 MB เป็นอย่างน้อยครับ

รูปที่ 7

บนหน้านี้ ผมแนะนำให้เปิดใช้งาน Dynamic Memory ซึ่งเป็นการกำหนดหน่วยความจำให้กับคอมพิวเตอร์เสมือนตามความต้องการใช้งานจริง วิธีการเปิดใช้งาน Dynamic Memory ทำได้โดยการเลือกเช็คบ็อกซ์ Use Dynamic Memory for this virtual machine. เสร็จแล้วคลิก Next

6. บนหน้า Configure Networking ดังรูปที่ 8 ให้เลือกรูปแบบการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของคอมพิวเตอร์เสมือนที่ต้องการ เสร็จแล้วคลิก Next

รูปที่ 8

7. บนหน้า Connect Virtual Hard Disk ดังรูปที่ 9 ให้เลือกชนิดของฮาร์ดดิสก์เสมือนที่ต้องการ เสร็จแล้วคลิก Next

ตัวเลือกฮาร์ดดิสก์เสมือน:

  • Create a virtual hard disk: ทำการสร้างฮาร์ดดิสก์เสมือนใหม่ โดยต้องกำหนดชื่อในช่อง Name: และกำหนดตำแหน่งที่จะเก็บฮาร์ดดิสก์เสมือนในช่อง Location: และกำหนดขนาดในช่อง Size:
  • Use an existing virtual hard disk: เลือกใช้ฮาร์ดดิสก์เสมือนที่มีอยู่แล้ว โดยต้องระบุตำแหน่งที่เก็บฮาร์ดดิสก์เสมือนในช่อง Location:
  • Attach a virtual hard disk later: ทำการกำหนดฮาร์ดดิสก์เสมือนในภายหลัง

 

รูปที่ 9

8. บนหน้า Installation Options ดังรูปที่ 10 ให้เลือกรูปแบบการติดตั้งระบบปฏิบัติการเกสต์ที่ต้องการ เสร็จแล้วคลิก Next

รูปแบบการติดตั้งระบบปฏิบัติการเกสต์:

  • Install an operating system later: ทำการติดตั้งระบบปฏิบัติการในภายหลัง
  • Install an operating system from a boot CD/DVD-ROM: ทำการติดตั้งระบบปฏิบัติการจาก CD/DVD-ROM หรือไฟล์อิมเมจ ISO
  • Install an operating system from a boot floppy disk: ทำการติดตั้งระบบปฏิบัติการจากฟลอปปีดิสก์
  • Install an operating system from a network based installation server: ทำการติดตั้งระบบปฏิบัติการผ่านทางระบบเครือข่าย

 

รูปที่ 10

9. บนหน้า Completing the New Virtual Machine Wizard ดังรูปที่ 11 เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างคอมพิวเตอร์เสมือน ดังนั้นให้ตรวจสอบความถูกต้องของการตั้งค่าต่างๆ และกลับไปแก้ไขถ้าหากมีข้อผิดพลาด เสร็จแล้วคลิก Finish เพื่อจบการสร้างคอมพิวเตอร์เสมือน

รูปที่ 11

10. บนหน้าต่าง Hyper-V Manager ให้คลิกเลือกคอมพิวเตอร์เสมือนที่ต้องการ จากนั้นคลิกเมนู Action แล้วเลือก Start เพื่อทำการเปิดคอมพิวเตอร์เสมือนและเริ่มการติดตั้งระบบปฏิบัติการ

11. บนหน้าต่าง Hyper-V Manager ให้คลิกเมนู Action แล้วเลือก Connect ดังรูปที่ 12 เพื่อเปิดหน้าต่างคอมพิวเตอร์เสมือนแล้วรอจนการติดตั้งระบบปฏิบัติการแล้วเสร็จ จากนั้นจะสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์เสมือนได้เหมือนกับการใช้งานคอมพิวเตอร์จริง

รูปที่ 12

ถึงจุดนี้เราจะได้คอมพิวเตอร์เสมือนสำหรับไว้ใช้ทดสอบการทำงานโปรแกรมต่างๆ แล้ว แต่ถ้าต้องการปรับแต่งการตั้งค่าสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้

การปรับแต่งการตั้งค่า Virtual Machine
การปรับแต่งการตั้งค่า คอมพิวเตอร์เสมือนทำได้โดยบนหน้าต่าง Hyper-V Manager ให้คลิกเมนู Action แล้วเลือก Settings (ดูรูปที่ 10 ประกอบ) เพื่อเปิดหน้า Settings for Virtual Machine Name ดังรูปที่ 13 จากนั้นเลือกหัวข้อที่ต้องการจากคอลัมน์ด้านซ้ายมือแล้วทำการปรับแต่งการตั้งค่าตามความต้องการ เสร็จแล้วคลิก OK (หมายเหตุ: ต้องทำการปิดเครื่อง (Shutdown) คอมพิวเตอร์เสมือนก่อนจึงจะสามารถทำการปรับแต่งการตั้งค่าได้)

รูปที่ 13

รูปที่ 14

หลังจากทำการปรับแต่งคอมพิวเตอร์เสมือนได้ตามความต้องการแล้ว ก็สามารถทำการติดตั้งระบบปฏิบัติการแล้วติดตั้งโปรแกรมที่ต้องการได้ สามารถอ่านแนวทางได้จากเรื่อง การติดตั้ง Windows 8.1 แบบ Clean Install

Share This
Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmailby feather
Share.

Comments are closed.