การตั้งค่าพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ (Proxy Server) บนเครื่องพีซี Windows นั้นผู้ใช้จะต้องแยกทำบนเบราเซอร์แต่ละตัว เช่น Internet Explorer และ Firefox (Chrome ใช้การตั้งค่าพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ร่วมกับ Internet Explorer) แต่สำหรับบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตระบบแอนดรอยด์ (Android) นั้นสามารถตั้งค่าพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์จาก System settings เพียงจุดเดียวโดยจะมีผลกับเบราเซอร์ทุกตัว หากคุณยังทำไม่เป็นสามารถอ่านวิธีทำได้จากด้านล่างครับ
Proxy Server คืออะไร?
ก่อนอื่นขอแนะนำให้รู้จักก่อนว่าพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์คืออะไร
พร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ คือ ตัวกลางระหว่างเว็บเบราว์เซอร์และอินเทอร์เน็ต พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเว็บ โดยการเก็บสำเนา (Cache) หน้าเว็บที่ใช้บ่อยไว้ เมื่อเบราว์เซอร์ร้องขอหน้าเว็บที่เก็บอยู่ในคอลเล็กชันของพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์ (เรียกว่าแคชของพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์) พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์จะจัดส่งหน้าเว็บนั้นให้ซึ่งจะเร็วกว่าการไปที่เว็บโดยตรง นอกจากนี้ พร็อกซีเซิร์ฟเวอร์ยังสามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยโดยการกรองเนื้อหาเว็บและซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายออก (อ้างอิงจาก http://windows.microsoft.com/th-th/windows-vista/what-is-a-proxy-server ครับ)
การตั้ง Proxy Server บน Android
เนื่องจากบนแอนดรอยด์นั้นระบบอนุญาตให้ตั้งค่าพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์ได้เฉพาะการเชื่อมต่อใหม่เท่านั้น ดังนั้นถ้าคุณกำลังต่อ WiFi อยู่ให้คุณทำการตัดการเชื่อมต่อออกก่อนตามขั้นตอนดังนี้
สำหรับสมาร์ทโฟนที่ใช้อ้างอิงในบทความนี้ใช้แอนดรอยด์เวอร์ชัน 4.4.2 (KitKat)
1. บนหน้า Home ให้แตะหน้าจอค้างจนปรากฏหน้า Manage Home จากนั้นแตะ System settings
รูปที่ 1
2. บนหน้า System settings ในหัวข้อ Wireless & Networks ให้แตะ Wi-Fi (ถ้าหาก Wi-Fi ปิดอยู่ คือตั้งเป็น “OFF” ให้เปิด โดยตั้งค่าเป็น “ON” ก่อนนะครับ)
รูปที่ 2
3. บนหน้า Wi-Fi ให้แตะชื่อการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่มีสถานะ Connected
รูปที่ 3
4. บนหน้าถัดไปแตะ Forget เพื่อตัดการเชื่อมต่อ WiFi (ยังไม่ต้องปิดหน้า Wi-Fi เพราะต้องใช้งานต่อในขั้นตอนถัดไป)
รูปที่ 4
หลังจากนั้นให้คุณทำการเชื่อมต่อ WiFi ใหม่ โดยดำเนินการดังนี้
ถ้าคุณปิดหน้า Wi-Fi ไปแล้วให้คุณทำขั้นตอนที่ 1 และ 2 ถ้ายังไม่ปิดให้ข้ามไปขั้นตอนที่ 3 ได้เลยครับ
1. บนหน้า Home ให้แตะหน้าจอค้างจนปรากฏหน้า Manage Home จากนั้นแตะ System settings
2. บนหน้า System settings ในหัวข้อ Wireless & Networks ให้แตะ Wi-Fi
3. บนหน้า Wi-Fi ให้แตะชื่อ WiFi ที่ต้องการใช้งาน จากนั้นให้ติ๊ก Show advanced options แล้วภายใต้หัวข้อ Proxy (จะสังเกตเห็นได้ว่าค่าเริ่มต้นจะเป็น None) ให้แตะบน None จากนั้นแตะ Manual
รูปที่ 5
4. จากนั้นป้อนชื่อพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์และหมายเลขพอร์ตในช่อง Proxy hostname เช่น proxy1.company-name.com และ proxy port (โดยทั่วไปจะใช้ 8080 ) ตามลำดับ เสร็จแล้วแตะ Connect
รูปที่ 6
หลังจากทำตามขั้นตอนด้านบนเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณจะสามารถใช้งานเบราเซอร์ เช่น Firefox และ Chrome ท่องอินเทอร์เน็ตผ่านพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ได้ครับ
หมายเหตุ: การตั้งค่าพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์บนแอนดรอยด์นี้มีผลกับเบราเซอร์เท่านั้นแต่จะไม่มีผลกับแอปอื่นๆ ครับ
Share This





