Tip: เคล็ดลับการใช้งาน Windows Command Prompt

0

ถึงแม้ว่าระบบอินเทอร์เฟซสำหรับผู้ใช้แบบกราฟิก (GUI) ของ Windows ในปัจจุบันจะได้รับการพัฒนาให้สวยงามและทันสมัยมากขึ้น แต่ยังมีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะผู้ใช้ขั้นสูง อย่างเช่น ผู้ดูแลระบบ ยังคงชื่นชอบหรือจำเป็นต้องทำงานด้วยบรรทัดคำสั่ง (Command line) ดังนั้นเพื่อให้การทำงานด้วยบรรทัดคำสั่งมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ผมจึงรวบรวมเคล็ดลับการใช้งานพร้อมท์คำสั่ง (Command prompt) มาฝากครับ

คำสั่ง Clip.exe
ถึงแม้ว่า Windows Vista จะเป็นชื่อที่ไม่มีอะไรน่าจดจำมากนักโดยเฉพาะกับไมโครซอฟท์ แต่มันมีคุณสมบัติใหม่ (ในตอนที่มันออก) ที่มีประโยชน์หลายอย่างหนึ่งในนั้นคือ Clip.exe ซึ่งเป็นคำสั่งสำหรับแคปเจอร์ข้อมูลจากอินพุตมาตรฐานเข้าคลิปบอร์ด คุณสามารถพิมพ์คำสั่ง Clip /? ที่พร้อมท์คำสั่งของ Windows (Vista หรือใหม่กว่า) เพื่อดูวิธีการใช้งานซึ่งจะได้หน้าจอลักษณะดังรูปด้านล่าง

รูปที่ 1

คำสั่ง Clip ทำให้คุณสามารถไปป์ (Pipe) หรือรีไดเร็กเอ้าพุตของคำสั่งต่างๆ เข้าคลิปบอร์ดได้โดยไม่ต้องเสียเวลาคลิกเม้าส์

ตัวอย่างการใช้ Clip
ทำการรีไดเร็กข้อความในไฟล์ Readme.txt เข้าไปเก็บในคลิปบอร์ด
clip < C:\Readme.txt

ทำการรีไดเร็กเอ้าพุตของคำสั่ง Dir เข้าไปเก็บในคลิปบอร์ด
dir | clip

ทำการรีไดเร็กเอ้าพุตของคำสั่ง Ver เข้าไปเก็บในคลิปบอร์ด
ver | clip

ทำการรีไดเร็กเอ้าพุตของคำสั่ง ipconfig เข้าไปเก็บในคลิปบอร์ด
ipconfig /all | clip

ใช้ F7 เพื่อเปิดประวัติการใช้คำสั่งแบบกราฟิก
โดยทั่วไปแล้ว ในขณะที่คุณกำลังทำงานอยู่ที่พร้อมท์คำสั่งของ Windows คุณสามารถเรียกใช้คำสั่งที่เคยใช้ได้โดยการกดปุ่มลูกศรขึ้น (Up Arrow) เพื่อย้อนไปยังคำสั่งก่อนหน้าทีละคำสั่ง หรือกดปุ่มลูกศรลง (Down Arrow) เพื่อไปข้างหน้าทีละคำสั่ง วิธีการนี้ใช้งานได้ดีในกรณีที่มีคำสั่งที่เคยใช้จำนวนไม่มากหรือกรณีที่ต้องการย้อนไปยัง 2-3 คำสั่งที่ใช้ล่าสุด แต่ถ้าหากมีการใช่้คำสั่งเป็นจำนวนมาก คุณสามารถใช้วิธีการกดปุ่ม F7 ซึ่ง Windows จะแสดงประวัติคำสั่งที่คุณเคยใช้ในแบบกราฟิก จากนั้นคุณสามารถใช้ปุ่มลูกศรขึ้น-ลงท่องไปยังคำสั่งที่ต้องการแล้วกดปุ่ม Enter เพื่อรันคำสั่งนั้นอีกครั้ง (การออกจาก F7 ให้คุณกดปุ่ม ESC)

รูปที่ 2

ใช้ Command Prompt แบบโปร่งแสง
เหตุผลหนึ่งที่บางคนไม่ชอบใช้งานพร้อมท์คำสั่งของ Windows เพราะมันมีลักษณะไม่ค่อยทันสมัยแลดูไม่สวย แต่ถ้าคุณใช้ Windows 10 คุณสามารถทำให้หน้าต่างพร้อมท์คำสั่งดูดีขึ้น(เล็กน้อย)ได้โดยการตั้งค่าความทึบแสง (Opacity) วิธีการคือให้คุณคลิกขวาบนแถบชื่อหน้าต่างพร้อมท์คำสั่งจากนั้นเลือก Properties คลิกแท็บ Color แล้วปรับค่า Opacity ตามความต้องการ โดยปรับค่าได้ตั้งแต่ 100% (ค่าเริ่มต้น) ถึง 30%

รูปที่ 3

รองรับ Word wrapping
ปัญหาประการหนึ่งที่พบในการทำงานด้วยพร้อมท์คำสั่งของ Windows คือมันไม่รองรับการปรับขึ้นบรรทัดใหม่เมื่อแสดงข้อความมีความยาวมากๆ ทำให้ใช้งานไม่ค่อยไม่สะดวก แต่พร้อมท์คำสั่งใน Windows 10 ได้รับการปรับปรุงให้รองรับการึ้นบรรทัดใหม่ได้แล้วซึ่งช่วยให้ชีวิตของผู้ที่ต้องทำงานด้วยพร้อมท์คำสั่งง่ายขึ้นอีกเล็กน้อย อ่านเพิ่มเติมได้จากเรื่อง http://www.saranitus.com/2016/04/new-features-in-windows-10-command-prompt.html

Windows 10 Command Prompt รองรับ ANSI ในตัว
บน Windows 10 1511 หรือใหม่กว่าพร้อมท์คำสั่งจะรองรับ ANSI ทำให้สามารถสร้าง BBS Ansi Art ได้โดยไม่ต้องใช้โปรแกรมเสริม อ่านเพิ่มเติม https://msdn.microsoft.com/en-us/library/windows/desktop/mt638032(v=vs.85).aspx

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกหลายคำสั่งที่จะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ให้การทำงานด้วยพร้อมท์คำสั่ง ได้แก่

  • Alt + Enter เป็นคำสั่งสำหรับขยายหน้าต่างพร้อมท์คำสั่งเต็มจอ
  • Title เป็นคำสั่งสำหรับเปลี่ยนชื่อหน้าต่าง ตัวอย่าง title Test Page
  • Mode เป็นคำสั่งสำหรับเปลี่ยนขนาดหน้าต่าง ตัวอย่าง MODE con cols=80 lines=30
  • Exit ออกจาก (ปิด) พร้อมท์คำสั่ง
  • Color เป็นคำสั่งสำหรับเปลี่ยนสีพื้นหลังและตัวอักษรที่แสดง color ตามด้วยเลขฐาน 16 2 หลัก โดยหลักที่ 1 สีพื้นหลัง ส่วนหลักที่ 2 เป็นสีของตัวอักษร ตัวอย่าง ตั้งให้ สีพื้นหลัง = สีดำ ตัวอักษร = สีเขียว ใช้คำสั่ง color 0A

รูปที่ 5

ค่าของสีในฐาน 16 มีดังนี้
0 = Black
1 = Blue
2 = Green
3 = Aqua
4 = Red
5 = Purple
6 = Yellow
7 = White
8 = Gray
9 = Light Blue
A = Light Green
B = Light Aqua
C = Light Red
D = Light Purple
E = Light Yellow
F = Bright White

สำหรับผู้ที่ต้องทำงานด้วยบรรทัดคำสั่งบน Windows เป็นประจำ (เช่น ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ระบบ Windows) แนะนำให้ลองนำคำสั่งและคุณสมบัติของพร้อมท์คำสั่งทั้งใหม่และเก่าเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้งาน ซึ่งคิดว่าน่าจะช่วยให้ท่านทำงานได้สะดวก รวดเร็ว และสวยงามมากขึ้นไม่มากก็น้อยครับ

แหล่งอ้างอิง
Forgotten (but Awesome) Windows Command Prompt Features

Share This
Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmailby feather
Share.

Comments are closed.