Windows Anywhere ใน Windows 10 Redstone 2 คือ?

0

ใน Windows 10 Insider Preview Build 14926 ซึ่งออกให้กับ Insider ที่ตั้งค่าวงแหวนเป็น Fast เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไมโครซอฟท์ได้เพิ่มการตั้งค่า Windows Anywhere ในหน้า Accounts ใน Settings โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าไมโครซอฟท์มีแผนเพิ่มความสามารถการซิงค์ข้อมูลในการอัพเดตครั้งถัดไปที่มีโค้ดเนมว่า Redstone 2

การตั้งค่า Windows Anywhere จะอยู่ในหน้า Settings >Accounts > Windows Anywhere (รูปที่ 1) และถูกเปิดใช้งานตั้งแต่เริ่มต้น โดยปัจจุบันมีตัวเลือกการทำงานจำกัดคือ ปิด (On) หรือปิด (Off ) เท่านั้น และเนื่องจากไมโครซอฟท์ไม่เปิดเผยรายละเอียดทำให้ยังไม่ชัดเจนว่า Windows Anywhere ทำหน้าที่อะไรกันแน่ แต่มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการปรับปรุงและเพิ่มความสามารถการซิงค์ข้อมูลบน Windows 10 ดังนี้ (*แหล่งข้อมูล)

  • การตั้งค่าแอป Settings และแผงควบคุม (Control Panel)
  • แผนผังเมนู Start
  • การตั้งค่าและแผนผัง Taskbar
  • การตั้งค่าและแผนผังถาดระบบ (System tray)
  • ไอเท็มทั้งหมดที่ผู้ใช้เก็บไว้บนเดสก์ท็อป
  • การตั้งค่าการแจ้งเตือนใน Actions Center
  • การซิงค์แอป (Apps)

รูปที่ 1

ถึงตอนนี้ ยังไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วไมโครซอฟท์ตั้งใจที่จะทำอะไรกับ Windows Anywhere แต่ถ้าหากวิเคราะห์จากการตั้งชื่อ ทำให้ความเป็นไปได้ว่าไมโครซอฟท์กำลังวางแผนที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานจากทุกอุปกรณ์ Windows 10 ในสภาพแวดล้อมการทำงานเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การที่จะไปถึงจุดนั้น ไมโครซอฟท์จะต้องทำให้ Windows Anywhere สามารถซิงค์ข้อมูลทุกอย่างของผู้ใช้ (ภายใต้การควบคุมของผู้ใช้) จากพีซีเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องผ่านทางคลาวด์ (Cloud) ให้ได้เสียก่อน รวมถึง

  • ซิงค์ไฟล์ส่วนตัวทั้งหมดระหว่างอุปกรณ์กับคลาวด์
  • ซิงค์โปรแกรมเวอร์ชันเดสก์ท็อป
  • เพิ่มระบบจัดการ (Management system) บนระบบคลาวด์เพื่อจัดการไอเท็มที่ถูกซิงค์ (เพิ่ม, ลบ, แก้ไข)

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์จะต้องเตรียมการตั้งค่าหรือตัวเลือกสำหรับให้ผู้ใช้ทำการปรับแต่งการซิงค์บนอุปกรณ์ และเนื่องจากข้อมูลที่ต้องซิงค์มีขนาดใหญ่ ดังนั้นจะต้องวางแผนการจัดการแบนด์วิดธ์ที่ใช้ทำการซิงค์ข้อมูลเป็นอย่างดี

ปัจจุบัน Windows 10 Anniversary Update (Version 1607) รองรับการซิงค์ข้อมูลดังนี้:

  • การตั้งค่าธีม
  • การตั้งค่า Internet Explorer (IE)
  • รหัสผ่าน (Windows 10 จะไม่ทำการซิงค์ข้อมูลรหัสผ่านจนกว่าผู้ใช้จะทำการยืนยัน)
  • การตั้งค่าภาษา
  • ความง่ายในการเข้าถึง
  • การตั้งค่า Windows อื่นๆ

ข้อควรทราบ: การซิงค์ข้อมูลมีให้ใช้เมื่อทำการลงชื่อเข้า Windows 10 ด้วยบัญชีไมโครซอฟท์ (Microsoft Account) เท่านั้น

 

รูปที่ 2 และ 3 เป็นหน้าการตั้งค่า Sync your settings บน Windows 10 Anniversary Update

รูปที่ 2

รูปที่ 3

สรุป
ด้วยข้อมูลอันจำกัดทำให้มองเห็นภาพ Windows Anywhere ได้ไม่ชัดเจนในตอนนี้ ดังนั้นทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคลาวด์ในปัจจุบัน คงไม่ยากเกินไปที่ไมโครซอฟท์จะทำให้ Windows Anywhere สามารถซิงค์ข้อมูลทุกอย่างของผู้ใช้ได้ หากวันนั้นมาถึงจริงๆ ผู้ใช้ Windows จะสามารถทำงานได้จากทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ Windows 10 (ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องระบบเครือข่ายนะครับ) ได้สะดวกยิ่งขึ้น ครับ

แหล่งข้อมูล
* Ghacks

Share This
Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmailby feather
Share.

Comments are closed.