แนวทางการตรวจสอบและแก้ปัญหา Wi-Fi บน Windows 10

0

สวัสดีครับ วันนี้ผมมีวิธีการและขั้นตอนการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานเครือข่าย Wi-Fi บนเครื่องพีซี Windows 10 มาฝากเพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้อ่านได้นำไปประยุกต์ใช้งานหรือต่อยอดต่อไปครับ

ตัวอย่างสถานการณ์

คุณใช้งานเครื่องโน้ตบุ๊ค Windows 10 ผ่านเครือข่าย Wi-Fi โดยที่ผ่านมาการใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีปัญหาอะไร แต่แล้ววันหนึ่งเกิดปัญหาใช้งาน Wi-Fi ไม่ได้เนื่องจากเครื่องจับสัญญาณไม่ได้ และเมื่อคุณเข้าไปยังหน้า Settings > Network & Internet ปรากฏว่าไม่มีหัวข้อ “Wi-Fi” ในขณะที่หัวข้อ Status ขึ้นเป็น Not connected ดังรูปด้านล่าง

รูปที่ 1

ขอบเขตของบทความ

บทความนี้โฟกัสเรื่องการแก้ปัญหาพีซีที่รันด้วย Windows 10 Version 1607 (Anniversary Update) ไม่สามารถเชื่อมต่อเครือข่าย Wi-Fi ได้ (ก่อนหน้านี้สามารถเชื่อมต่อได้) ในขณะที่อุปกรณ์อื่นยังสามารถเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ได้ตามปกติ

ขั้นตอนการตรวจสอบและแก้ไขเมื่อใช้ Wi-Fi บน Windows 10

ในสถานการณ์ที่คุณประสบปัญหาการใช้งาน Wi-Fi บน Windows 10 ไม่ได้ ให้คุณทำการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนดังนี้

ข้อควรทราบ: บทความนี้อ้างอิง Windows 10 Version 1607 (Anniversary Update)

ขั้นตอนที่ 1: ตรวจสอบสถานะการ์ด Wireless

ขั้นตอนแรกที่แนะนำให้ตรวจสอบเมื่อคุณประสบปัญหาการเชื่อมต่อเครือข่าย Wi-Fi คือการตรวจสอบสถานะการ์ด Wireless ตามขั้นตอนดังนี้

  1. คลิกขวาไอคอน Network บนแถบงาน แล้วคลิก Open Network and Sharing Center
  2. บนหน้า Network and Sharing Center คลิก Change adapter settings

ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีการปิด (Disabled) การ์ด Wireless ให้ทำการเปิด (Enable) ให้เรียบร้อยโดยการคลิกขวาบนการ์ด Wireless แล้วเลือก Enable เสร็จแล้วให้พยายามทำการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi อีกครั้ง ถ้ายังใช้ไม่ได้ให้ทำขั้นตอนที่ 2

แต่ถ้าสถานะการ์ด Wireless เป็น Enabled (รูปที่ 2) ให้ทำการ Disable จากนั้นทำการ Enable การ์ด Wireless เสร็จแล้วให้พยายามทำการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi อีกครั้ง ถ้ายังใช้ไม่ได้ให้ทำขั้นตอนที่ 2

รูปที่ 2

ขั้นตอนที่ 2: อัปเดตการ์ด Wireless

ถ้าหากการ์ด Wireless เปิดตามปกติ (รูปที่ 2) แต่ทำการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ไม่ได้ ให้ทดลองทำการอัปเดตไดรฟ์เวอร์การ์ด Wireless ตามขั้นตอนดังนี้

!กรณีไม่ได้เก็บไดรฟ์เวอร์การ์ด Wireless ไว้บนเครื่องจะต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทาง LAN หรือใช้อุปกรณ์เก็บข้อมูล เช่น ยูเอสบีแฟลชไดรฟ์

1. คลิกขวา Start แล้วคลิก Control Panel จากนั้นคลิก System บนหน้า System คลิก Device Manager

ทิป: แป้นพิมพ์ลัดสำหรับเปิดหน้า System คือ WIN + Break

2. บนหน้า Device Manager ให้คลิกขยาย Network adapters จากนั้นคลิกขวาบนการ์ด Wireless แล้วเลือก Update Driver Software ทำตามขั้นตอนบนหน้าจอจนแล้วเสร็จ

รูปที่ 3

หลังจากทำการอัปเดตไดรฟ์เวอร์การ์ด Wireless เสร็จแล้วให้พยายามทำการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi อีกครั้ง ถ้าหากยังเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ไม่ได้ ให้ทดลองทำการลบการ์ด Wireless เพื่อรีเซ็ตระบบใหม่โดยทำตามขั้นตอนที่ 1-2 ด้านบนแต่ในขั้นตอนที่ 2 ให้เลือก Uninstall เสร็จแล้วทำการเริ่มต้นระบบใหม่เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงมีผล

รูปที่ 4

หลังจากพีซีพร้อมใช้งาน (ตามปกติแล้ว Windows 10 จะทำการติดตั้งการ์ด Wireless ให้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าหากไม่เป็นไปตามที่กล่าวมาให้คุณทำตามขั้นตอนที่ 1-2 ด้านบน) ให้พยายามทำการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi อีกครั้ง ถ้ายังใช้ไม่ได้ให้ทำขั้นตอนที่ 3

รูปที่ 5

ขั้นตอนที่ 3: ตรวจสอบสถานะ WLAN Service

ถ้าหากทำตามขั้นตอนที่ 1 และ 2 แล้วยังไม่ได้ผลให้คุณทำการตรวจสอบสถานะการทำงานของ WLAN Service ตามขั้นตอนดังนี้

1. กดแป้นพิมพ์ Windows + R หรือคลิกขวาปุ่ม Start แล้วเลือก Run

2. พิมพ์ services.msc (ใช้ตัวใหญ่หรือตัวเล็กก็ได้ แต่ต้องป้อนนามสกุล .msc ด้วย) ในช่อง Open เสร็จแล้วคลิก OK หรือกดปุ่ม Enter

ทิป: สามารถรันจากแถบ Quick access ของ File Explorer ได้เช่นกัน

3. บนหน้าต่าง Services ให้ตรวจสอบสถานะของ WLAN AutoConfig ถ้าสถานะเป็น “Running” ให้ทำขั้นตอนที่ 4 แต่ถ้าสถานะเป็น Disabled ให้ทำตามข้อ 4.

รูปที่ 6

4. บนหน้าต่าง Services ให้ดับเบิลคลิก WLAN AutoConfig จากนั้นบนหน้า WLAN AutoConfig Properties (Local Computer) ในหัวข้อ Startup type ให้เลือกเป็น “Automatic” เสร็จแล้วคลิก Apply

รูปที่ 7

รูปที่ 8

5. [ยังอยู่บนบนหน้า WLAN AutoConfig Properties (Local Computer)] ภายใต้หัวข้อ Service status ให้คลิก Start เสร็จแล้วคลิก OK

รูปที่ 9

จากนั้นบนหน้าต่าง Services ให้ตรวจสอบว่าสถานะของ WLAN AutoConfig เป็น Running

รูปที่ 10

เมื่อคุณมาถึงขั้นตอนนี้ ถ้าหากไม่มีอะไรผิดพลาด คุณสามารถคลิกไอคอน Wi-Fi บนแถบงานแล้วทำการเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ที่ต้องการได้ตามปกติ (วิธีการใช้งานขึ้นอยู่กับระบบ Wi-Fi ที่คุณใช้ โดยบางระบบจะพร้อมท์ให้คุณป้อนชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน ในขณะที่บางระบบอาจสามารถใช้งานได้ทันที)

รูปที่ 11

รูปด้านล่างเป็นหน้า Wi-Fi settings หลังจากทำการเชื่อมต่อกับ Wi-Fi สำเร็จแล้ว

รูปที่ 12

ขั้นตอนที่ 4: ตรวจสอบฮาร์ดแวร์

ถ้าหากคุณทำขั้นตอนที่ 1,2 และ 3 แล้วแต่ไม่ได้ผลอาจเป็นไปได้ว่าเป็นปัญหาที่ระบบฮาร์แวร์ของการ์ด Wireless หรือของเครื่องพีซี ในกรณีนี้คุณควรต้องติดต่อศูนย์บริการของหรือร้านซ่อมคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบในเชิงลึกต่อไปครับ

สรุป

กรณีที่คุณประสบปัญหาการเชื่อมต่อ Wi-Fi บน Windows 10 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นใช้งานได้ปกติ ให้ทำการตรวจสอบให้แน่ใจว่า WLAN AutoConfig เปิดใช้งานโดยอัตโนมัติและมีสถานะเป็น “Running” ตามขั้นตอนและวิธีการด้านบน แต่ถ้าทุกอย่างเป็นปกติแต่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้ มีความเป็นไปได้สูงว่าเกิดจากฮาร์ดแวร์เสียหรือมีปัญหาการทำงาน

ประวัติการปรับปรุง
24 กุมภาพันธ์ 2561: ปรับปรุงเนื้อหา
18 กุมภาพันธ์ 2560: เผยแพร่ครั้งแรก

Share This
Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmailby feather
Share.

Comments are closed.