ถึงแม้ว่าผมจะมีสว่านโรตารีและสว่านไฟฟ้าใช้งานอยู่แล้วอย่างละเครื่อง แต่ด้วยมีความจำเป็นต้องเจาะปูนและไขสกรูในสถานที่ซึ่งไม่มีไฟฟ้า ทำให้ต้องหาซื้อสว่านไฟฟ้าไร้สายเพิ่มอีกหนึ่งตัว ไหนไหนก็จะซื้อทั้งทีก็คิดว่าซื้อของดีมีแบรนด์ไปเลยจะได้ใช้งานกันยาว ๆ และหลังจากจด ๆ จ้อง ๆ ศึกษาค้นคว้าข้อมูลอยู่นานสองนานในที่สุดก็ตัดสินใจซื้อสว่านกระแทกไร้สายยี่ห้อ
มากีต้า (MAKITA) รุ่น DHP486 ซึ่งเป็นรุ่นท็อปของสว่านไฟฟ้าไร้สายซีรี่ย์ 18V ของมากีต้า และหลังจากใช้งานมาได้สักพักนึงแล้ว ก็มีทั้งเรื่องที่ประทับใจและไม่ประทับใจ จึงนำมาโพสต์เพื่อบอกกล่าวแบบเล่าให้ฟังเล่น ๆ ครับ
ข้อควรทราบ: ต้องออกตัวก่อนนะครับว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสว่านไร้สาย โพสต์นี้เขียนจากประสบการณ์ล้วน ๆ ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ และโปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล ข้อไหนดีมีประโยชน์ก็นำไปใช้ตามเห็นควร สำหรับข้อไหนคิดว่าไม่น่าใช่ก็ข้ามไปครับ
MAKITA DHP486 สว่านกระแทกไร้สาย
เริ่มต้นกันที่ฟีเจอร์ โดย DHP486 จัดเป็นสว่านกระแทกไร้สายแบบ 3 โหมด หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Cordless Hammer Drill Driver คือ เจาะกระแทก เจาะธรรมดา และโหมดไขสกรู ซึ่งสามารถปรับแรงบิดหรือทอร์คได้ถึง 21 ระดับ โดยพัฒนาต่อจากรุ่นก่อนหน้าคือ DHP481 โดยมีคุณลักษณะเด่น ดังนี้
Compact design
ออกแบบชุดเกียร์ให้มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้ตัวเครื่องมีขนาดกระทัดรัด โดยตัวเครื่องมีขนาดเพียง 178 mm ซึ่งลดลงจากรุ่น DHP481 ถึง 27 mm
Brushless Motor
มอเตอร์แบบไร้แปรงถ่าน (BL Motor) ให้กำลังแรงสูง โดยมีความเร็วรอบสูงสุด 2,100 RPM ในโหมดความเร็วแบบ Hi-speed และมอเตอร์ยังมีอายุใช้งานยาวนานกว่ามอเตอร์แบบใช้แปลงถ่าน
Max clutch torque
ออกแบบคลัชแคมให้หน้าสัมผัสมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้มีแรงบิดเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีเมื่อใช้งานในโหมดไขควง ทำให้สามารถไขสกรูขนาดใหญ่ เช่น 9.0×50 mm ได้รวดเร็วขึ้น โดยในโหมดไขควงมีแรงบิดสูงสุดในการไขสกรู 130 N∙m (Hard) และ 65 N∙m (Soft) สามารถปรับแรงบิดได้ 21 ระดับ (DHP481 มีแรงบิดสูงสุดในการไขสกรู 125 N∙m)
All metal gear construction
โครงสร้างห้องเกียร์ทำด้วยโลหะทั้งหมด ทำให้การส่งผ่านกำลังมีประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษ และมีความทนทานต่อการสึกหรอ
Mechanical 2-speed transmission
สามารถปรับโหมดความเร็วได้ 2 โหมด คือ 1 Low-speed (High torque) มีความเร็วรอบ 0-550 RPM และ 2 Hi-speed (Low torque) มีความเร็วรอบ 0-2100 RPM
Twin LED
ไฟ LED คู่พร้อมฟังก์ชั่น Preglow และ Afterglow ให้ความสว่างมากขึ้น เพิ่มความสะดวกในการทำงานในพื้นที่แสงสว่างน้อย (DHP481 มีไฟ LED ดวงเดียว)
Electronic brake
มีระบบหยุดการทำงานแบบอิเล็คทรอนิกส์ซึ่งมอเตอร์จะหยุดทำงานทันทีที่ปล่อยสวิตช์
Metal Chuck
หัวจับดอกสว่านใช้ยี่ห้อ Yukiwa ซึ่งทำด้วยโหละทำให้สามารถจับดอกสว่านได้แน่นหนา และแกนจับดอกมีฟันกันลื่นอีกด้วย (DHP481 แกนจับดอกไม่มีฟันกันลื่น)
Extreme Protection Technology (XPT)
XPT เป็นเทคโนโลยีการป้องกันน้ำและฝุ่นไม่ให้เข้าสู่ส่วนประกอบที่สำคัญภายในตัวเครื่องมือ โดยการเพิ่มร่องที่ได้รับการออกแบบมาให้ทำหน้าที่ระบายน้ำและฝุ่นออกจากตัวเครื่องมืออย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อมีน้ำหรือฝุ่นเข้าสู่ตัวเครื่องมือ น้ำหรือฝุ่นเหล่านั้นจะไหลลงไปในร่องที่จัดเตรียมไว้และไหลออกจากตัวเครื่องมืออย่างรวดเร็ว
XPT ช่วยปกป้องเครื่องมือจากความชื้น ละอองน้ำ หรือฝุ่น เมื่อใช้งานในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย
สเปคและคุณลักษณะจำเพาะ
DHP486 มีสเปคดังนี้
ความสามารถการเจาะ:
- เหล็ก: 13 mm (1/2″)
- ไม้ (Auger-Bit): 50 mm (2″)
- ไม้ (Self-Feed Bit): 76 mm (3″)
- ไม้ (Hole Saw): 152 mm (6″)
- ปูน: 16 mm (5/8″)
- Siding Board: 170 mm (6-11/16″)
Chuck Capacity: 1.5 – 13 mm (1/16 – 1/2″)
Impacts Per Minute (IPM): High / Low: 0 – 31,500 / 0 – 8,250
No Load Speed (RPM): High / Low: 0 – 2,100 / 0 – 550
Max Fastening Torque: Hard / Soft: 130 / 65 N·m (1,150 / 580 in.lbs.)
Max Lock Torque: 125 N·m (1,100 in.lbs.)
Clutch levels: 21 levels
ขนาดตัวเครื่อง: (เครื่องเปล่า) 178 x 21 x 217 mm
น้ำหนัก: 2.1 kg (ไม่รวมแบตเตอรี่และชุดด้ามจับ)
การใช้งาน MAKITA DHP486
หลังจากได้ใช้งาน DHP486 ในการงานปรับปรุงซ่อมแซมบ้านและทำงาน DIY มีทั้งเจาะเสารั้วคอนกรีตอัดแรง ผนังอิฐมวลเบา ไม้เนื้ออ่อน (มีเจาะเหล็กบาง ๆ บ้างแต่ไม่มากนัก) ได้ประมาณ 3-4 เดือน มีผลการทำงานตามภาพประกอบด้านล่าง ขออนุญาตโน้ตไว้ ณ ตรงนี้ว่า “เป็นการวัดจากความรู้สึกล้วน ๆ ใช้วิจารณญาณในการดูข้อมูลและไม่แนะนำให้ใช้อ้างอิงใดใด” นะครับ

MAKITA DHP486 – ทดสอบเจาะคอนกรีต (เจาะไม่กระแทก)

MAKITA DHP486 – ทดสอบเจาะคอนกรีต (เจาะกระแทก)
การเจาะปูน แต่ถ้าใครที่คิดไว้ว่ามันจะทำได้ดีใกล้เคียงหรือเทียบเท่าสว่านโรตารี่ ผมกล้าพูดแบบเต็มปากเต็มคำเลยว่าคิดผิดครับ เพราะถึงแม้ว่าจะมีโหมดเจาะกระแทก (Hammer drill) ก็ตาม แต่ระบบกระแทกของ DHP486 เป็นแบบ Percussion ซึ่งมีแรงกระแทกไม่มาก ส่วนระบบกระแทกของสว่านโรตารี่นั้นใช้ลูกสูบในการสร้างแรงอัดและส่งแรงอัดไปตอกดอกสว่าน ทำให้มีแรงกระแทกที่สูงกว่าส่งผลให้เจาะปูนได้เร็วกว่า
แล้ว DHP486 เจาะปูนได้หรือไม่? ตอบว่าเจาะได้ครับ เพราะวัตถุประสงค์หลักที่ผมซื้อมาก็เพื่อใช้เจาะปูนนี่แหละ แต่ใช้เวลาในการเจาะนานกว่าและต้องใช้แรงมากกว่าการใช้ส่วานโรตารี่ โดยจากการเจาะเสารั้วคอนกรีตอัดแรงด้วย DHP486 ประมาณ 10 รู เพื่อใส่ปุกพลาสติกเบอร์ 7 โดยใช้ดอกสว่าน 6.5mm สามารถเจาะได้แต่ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงทีเดียว เล่นเอายืนจนเมื่อยขาเลยครับ ตัวเลขชั่วโมงนี้รวมเวลาพักเครื่องและพักคนด้วยนะครับ
เคล็ดลับในการเจาะปูน คือ ต้องใช้ดอกสว่านคุณภาพดี ๆ หน่อย และควรใช้เป็นดอกใหม่ ๆ และจะเจาะได้เร็วขึ้นใช้หากใช้ดอกสว่านขนาดเล็ก เช่น ดอกสว่านขนาด 4mm เจาะนำก่อนแล้วจึงเจาะด้วยดอกขนาดที่ใหญ่ขึ้นเช่น ดอก 6.5/7/8/10 mm
สำหรับการเจาะผนังพรีคาสท์นั้นผมไม่ได้ลองในส่วนนี้แต่คิดว่าคงมีผลในลักษณะเดียวกับการเจาะเสารั้วคอนกรีตอัดแรง

MAKITA DHP486 – ทดสอบเจาะผนังอิฐมวลเบา
การเจาะผนังอิฐมวลเบา จัดว่าเป็นงานที่เหมาะกับ DHP486 อย่างมาก เหมือนว่ามันถูกสร้างขึ้นเพื่องานแบบนี้เลยทีเดียว ซึ่งจากการใช้เจาะผนังอิฐมวลเบาเพื่อใส่ปุกพลาสติกเบอร์ 6/7 สำหรับติดตั้งกล้อง CCTV และเดินท่อร้อยสายไฟ โดยใช้ดอกสว่าน 4/6/6.5mm และเช่นเดีนวกับการเจาะปูน คือจะเจาะได้เร็วขึ้นใช้หากใช้ดอกสว่านขนาดเล็กเจาะนำก่อนแล้วจึงเจาะด้วยดอกขนาดที่ใหญ่ขึ้น ผมใช้แค่โหมดเจาะ (Drill) ที่เกียร์ 1 โดยกดสวิตช์ประมาณครึ่งนึงก็เจาะได้สบาย และเจาะได้เร็วยิ่งขึ้นเมื่อเปลี่ยนเป็นเกียร์ 2 หรือโหมดกระแทก (Hammer Drill)

MAKITA DHP486 – ทดสอบเจาะไม้
การเจาะไม้ เป็นอีกงานที่เหมาะกับ DHP486 โดยจากการใช้เจาะไม้ยางพารา และไม้ยูคาลิปตัส ด้วยดอกสว่านเจาะไม้ขนาด 5/8/10 mm ใช้แค่เกียร์ 1 โดยกดสวิตช์ประมาณครึ่งนึงก็สามารถเจาะได้อย่างง่ายดาย ส่วนการเจาะด้วยดอกสว่านใบพายขนาด 10/20 mm นั้น ก็เจาะได้ไม่มีปัญหา เพียงแต่หากใช้เกียร์ 1 อาจต้องกดสวิตช์จนสุด แต่ถ้าใช้เกียร์ 2 กดสวิตช์ประมาณครึ่งนึงก็สามารถเจาะได้สบาย ๆ
!การเจาะด้วยดอกสว่านใบพายต้องใช้ใช้ก้านจับเพื่อป้องกันการบาดเจ็บหากดอกสว่านติด
การเจาะเหล็ก ทดลองเจาะเหล็กหนาประมาณ 1.5mm ก็สามารถเจาะได้ไม่ยาก โดยไม่ได้ทดสอบการเจาะเหล็กหนา ๆ
การเจาะกล่องพลาสติก จัดว่าเป็นงานง่าย ๆ สำหรับ DHP486 โดยใช้แค่เกียร์ 1 แล้วกดสวิตช์เพียงเบา ๆ ก็แรงเหลือเฟือ โดยจากการใช้เจาะกล่องพลาสติกด้วยดอก Step drill 4-20mm และดอก Hole saw ขนาด 25mm แทบไม่ต้องออกแรงกดแต่อย่างใด
ความคิดเห็นต่อของสว่านกระแทกไร้สาย DHP486
ผมมีความเห็นส่วนตัวประมาณนี้ครับ
สิ่งที่ประทับใจของสว่านกระแทกไร้สาย DHP486
ด้านล่างนี้เป็นความประทับใจในการใช้งาน DHP486
- สวิตช์ควบคุมความเร็วตอบสนองการกดทำงานได้ไหลลื่นดี และสว่านหยุดการทำงานทันทีที่ปล่อยสวิตช์
- ความแรงเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป งาน DIY เจาะไม้ เจาะผนังอิฐมวลเบา
- ไฟ LED 2 ดวง ให้แสงสว่างเพียงพอเมื่อทำงานในพื้นที่แสงน้อย
- จับถนัดมือ ไม่ลื่น มีด้ามจับเพื่อกันสะบัดกรณีดอกสว่านติด
- เจาะได้นุ่มนวล มีการสั่นสะเทือนค่อยข้างน้อย ทำให้เกิดความเมื่อยล้าน้อยโดยเฉพาะในการเจาะเป็นเวลานาน
- ไม่มีปัญหาเรื่องความร้อน โดยจากการใช้เจาะเสารั้วคอนกรีตอัดแรงโดยการกดสวิตช์สุดที่โหมดเกียร์ 2 เป็นเวลานานตัวเครื่องและแบตเตอรี่เพียวแค่อุ่น ๆ
- เสียงจากการเจาะค่อนข้างเบา ทำให้ไม่หนวกหูและไม่เกิดเสียงรบกวนเพื่อนบ้านใกล้เคียง
ข้อสังเกตของสว่านกระแทกไร้สาย DHP486
ด้านล่างนี้เป็นประเด็นที่ไม่ค่อยประทับใจเกี่ยวกับ DHP486
- ข้อแรกนี้เป็นความผิดพลาดของผมเองที่ไม่สอบถามรายละเอียดร้านก่อนสั่งซื่อ (ซื้อจากร้านดังในแอปส้ม) นั่นคือ ซื้อเครื่องช่วงกลางปี 2023 แต่ได้รับเครื่องที่ผลิตปี 2021 ถึงจะไม่มีผลด้านการใช้งานและการรับประกัน แต่มีผลต่อความรู้สึกครับ แต่ไม่ได้โทษอะไรทางร้านเพราะว่าผมไม่รอบคอบเอง ถ้าใครจะซื่อเครื่องมือลักษณะนี้ทางออนไลน์สอบถามร้านให้ครบถ้วนนะครับ เพราะราคาหลักหมื่นไม่ใช่บาทสองบาท
- ตัวเครื่องใหญ่และน้ำหนักค่อนข้างมาก ยิ่งหนักมากเมื่อใช้แบตเตอร์รี่ 5AH (BL1850) ทำให้พกพาไม่ค่อยสะดวก คาดเข็มขัดก็เกะกะ โดยเฉพาะหากต้องถือขึ้นไปทำงานบนที่สูง และเกิดความเมื่อยล้าได้เมื่อใช้งานติดต่อเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะการใช้งานในลักษณะที่ต้องยกสว่านขึ้นสูงกว่าศรีษะ ประเด็นนี้ถ้าเปลี่ยนไปใช้แบต 1.5Ah (BL1815) จะช่วยลดปัญหานี้ลงได้เล็กน้อย
- ไม่เหมาะกับงานไขสกรูถึงจะมีโหมดไขสกรูมาให้ ซึ่งในการใช้งานไขสกรูนั้น DHP486 พอทำได้หรือใช้งานแก้ขัดเท่านั้น เนื่องจากตัวเครื่องที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากเมื่อเทียบกับไขควงกระแทกไร้สาย ดังนั้นถ้าใครที่คิดไว้ว่าจะซื่อ DHP486 เพียงตัวเดียวสำหรับใช้งานทั้งการเจาะและไขสกรู เชื่อว่าในที่สุดคุณก็ต้องซื้อไขควงกระแทกไร้สายเพิ่มอีกตัวเหมือนผมอย่างแน่นอน 555
- สวิตช์เลือกโหมด 1/2 ค่อนข้างแข็ง ทำให้การปรับเลือกโหมดที่ต้องการทำได้ค่อนข้างยาก
- แหวนปรับแรงบิดค่อนข้างแข็งทำให้การปรับระดับแรงบิดที่ต้องการทำได้ค่อนข้างยากเมื่อใช้งานในโหมดไขสกรู แต่ไม่เป็นปัญหากับผมมากนักเพราะผมไม่ได้ใช้โหมดนี้
- มีเสียงดังเหมือนโลหะกระทบกันเมื่อหยุดการทำงาน โดยที่โหมด 2 (High-speed) จะมีเสียงดังกว่า โหมด 1 (Low-speed)
- ไม่มีระบบตัดการทำงานหรือระบบกันสะบัดเมื่อดอกสว่านติด
ข้อแนะนำ:
ให้ทำการลงทะเบียนภายใน 15 วัน เพื่อรับสิทธิ์การรับประกันคุณภาพ 1 ปี โดยลงทะเบียนได้ที่ mymakita.in.th และหากต้องนำขึ้นไปใช้งานบนที่สูงแนะนำให้คล้องสายกันตกด้วยครับ
!ข้อควรระวัง
เนื่องจาก DHP486 มีแรงบิดสูงแต่ไม่มีระบบกันสะบัดเมื่อดอกสว่านติด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือการใช้งานอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้ก้านจับ และใช้งานด้วยให้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
ปัญหาที่พบใน DHP486
ข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้มากีต้าบน Facebook มีรายงานปัญหาที่พบในการใช้งาน DHP486 เช่น ล็อคดอกสว่านไม่ได้ มีอาการหลงเกียร์ มีการกระแทกในโหมดเจาะ (หลงโหมด) ความเร็วไม่เปลี่ยนแปลงตามการกดสวิตช์ สว่านสูญเสียแรง (หมุนฟรี) แต่โดยส่วนตัวผมไม่พบปัญหาที่กล่าวมาและหวังว่าจะไม่พบปัญหาเหล่านี้ หากใครพบปัญหาตามที่กล่าวมาแนะนำให้รีบส่งเคลมกับมากีต้าในทันทีครับ
รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่พบใน DHP486 สามารถหาอ่านได้จากกลุ่ม MAKITA TOOLS THAILAND
สรุป
DHP486 เป็นสว่านกระแทกไร้สายที่มีแรงทำงานเหลือเฝือ สามารถใช้งาน DIY งานซ่อมแซมบ้าน เจาะผนังอิฐมวลเบา เจาะไม้ เจาะเหล็ก ได้อย่างไม่มีปัญหา ส่วนการเจาะปูนั้นถึงแม้ว่าจะมีโหมดเจาะกระแทกแต่มันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเจาะปูนเป็นงานหลักแบบสว่านโรตารี่ หากเจาะไม่เยอะหรือนาน ๆ เจาะทีก็พอใช้ได้แต่ต้องเลือกใช้ดอกสว่านที่เหมาะสม แต่ถ้าเป็นผู้รับเหมาที่ต้องเจาะเยอะ 20-30 รูต่อวัน หรือต้องเจาะทุกวัน หรือต้องเจาะผนังพรีคาสท์ แนะนำใช้สว่านโรตารี่จะทำได้ดีกว่า เพื่อเบาแรงคนใช้และถนอมเครื่องมือให้มีอายุใช้งานยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งมากีต้าก็มีสว่านโรตารี่ไร้สายให้เลือกใช้หลายรุ่น รุ่น 18V เช่น DHR183 DHR242 รุน 40V เช่น HR001G เป็นต้น
สำหรับท่านที่กำลังพิจารณาซื้อสว่านกระแทกไร้สายสำหรับใช้งานสักตัว เนื่องจากสว่านแต่ละประเภทนั้นมีข้อเด่น ข้อด้อย รุ่นที่แรงบิดสูง ๆ ไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมาะกับทุกงาน รุ่นที่ใหม่กว่าไม่ได้รับประกันว่ามันใช้งานดีกว่ารุ่นเก่ากว่า ดังนั้นแนะนำว่าให้เลือกรุ่นที่เหมาะสมกับงานที่จะนำไปใช้งานและความชื่นชอบส่วนตัว แล้วท่านจะได้อุปกรณ์ที่ถูกใจและใช้งานมันอย่างมีความสุข
หากใครอยากได้สว่านกระแทกไร้สายแรงบิดสูง ไม่เกี่ยงเรื่องน้ำหนักและราคา DHP486 น่าจะเป็นตัวเลือกที่ลงตัวครับ ถ้าใครสนใจสว่านกระแทกไร้สายรุ่นนี้ ผมไม่มีขายนะครับ เข้าไปค้นหาในแอปชอปปิ้งออนไลน์กันได้ เครื่องเปล่า DHP486Z ราคาประมาณ 6,6xx – 6,9xx บาท และถ้าหากเป็นการซื้อเครื่องมือไร้สานมากีต้า 18V ตัวแรก จะต้องซื้อแท่นชาร์จแบตเตอรี่รุ่นชาร์จเร็ว DC18R ราคาประมาณ 1,5xx – 1,8xx บาท (ไม่แนะนำให้ใช้รุ่นชาร์จช้าครับ) แบตเตอรี่ 18V 1.5Ah BL1815 ราคาประมาณ 1,2xx – 1,3xx บาท แบตเตอรี่ 18V 3Ah BL1830 ราคาประมาณ 1,7xx – 1,8xx บาท แบตเตอรี่ 18V 5Ah BL1850 ราคาประมาณ 2,3xx – 2,5xx บาท ราคาดังกล่าวนี้ยังไม่หักส่วนลดจากโปรลดราและไม่รวมค่าขนส่งสำหรับการซื้อออนไลน์นะครับ (บางครั้งทางร้านจะมีการขายเป็นชุด ซึ่งราคาอาจถูกกว่าการซื้อแยกเป็นชิ้น)
!ย้ำ สว่านกระแทกไร้สายสามารถใช้ไขสกรูได้ก็จริง แต่มันยังห่างชั้นกับการไขสกด้วยไขควงไฟฟ้าไร้สาย/ไขควงกระแทกไร้สาย
ประวัติการเผยแพร่บทความ:
6 พฤศจิกายน 2566 : แก้ไขตัวสะกด
1 พฤศจิกายน 2566 : เผยแพร่ครั้งแรก
แหล่งอ้างอิง:
https://makita.com.sg/product/dhp486-cordless-hammer-driver-drill/
https://web.facebook.com/ktwgroupthailand/photos/a.123503371066351/3669980036418649/?type=3&_rdc=1&_rdr






